แอ็คเซสพอยต์ (Access Point)

แอ็คเซสพอยต์ (Access Point)


   แอคเซสพอยต์ (Access points) เป็นอุปกรณ์ที่มีมาพร้อมกับระบบไร้สายตั้งแต่แรกเริ่ม ตามมาตรฐาน 802.11 ได้ให้คำนิยามของแอคเซสพอยต์ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งานระบบไร้สายเข้ากับระบบเครือข่ายที่ต้องใช้สายสัญญาณ อย่างเช่นระบบอีเทอร์เน็ต (Ethernet) เป็นต้น การทำงานหลักๆ ของแอคเซสพอยต์ ยังคงต้องเน้นการควบคุมและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ที่เข้ามาใช้งานบนเครือข่ายไร้สายในสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้งานบนย่านความถี่เดียวกันพร้อมๆ กันหลายคน
      
       Wireless LAN bridges จะแตกต่างจากแอคเซสพอยต์แบบธรรมดาอย่างไร ให้เราลองหลับตา และนึกถึงสะพานที่เราเห็นอยู่ทุกวัน นั่นคือบริดจ์ (Bridge) จะทำหน้าที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำหรือถนนเข้าด้วยกัน และทำให้ยานพาหนะต่างๆ วิ่งข้ามไปได้ ทางด้านอุตสาหกรรมได้ให้นิยามของบริดจ์ว่า คือสิ่งของคู่หนึ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมสองเครือข่ายให้สามารถใช้งานไปได้พร้อมๆ กัน หรือจะแตกต่างกันในระดับ Data Link Layer Protocol หรือบางคนจะเรียกว่า LAN-to-LAN bridging
       
       บริดจ์แบบดั้งเดิมจะใช้ลักษณะการเชื่อมต่อแบบลีดส์ไลน์ สายโทรศัพท์ และมีเดียอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมระบบ LAN สองฝั่งเข้าด้วยกัน โดย Wireless Bridges เป็นระบบที่ง่ายที่สุดของเทคโนโลยีไร้สายในการเชื่อม LAN ทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน
      




       ชนิดของ WLAN Bridges
      
       เครือข่าย Wi-Fi เมื่อติดตั้งเป็นแบบ bridging mode จะอนุญาตให้แอคเซสพอยต์ไร้สายตั้งแต่สองตัวขึ้นไปสื่อสารระหว่างกัน โดยที่แอคเซสพอยต์แต่ละตัวเสมือนเป็นสมาชิกของ LAN ทุกวง เราสามารถแบ่งระดับของ Wi-Fi bridging mode จากการทำงานของตัวอุปกรณ์เอง Wireless Bridge บางตัวสนับสนุนการทำงานแค่ single point-to-point คือเชื่อมต่อระหว่างบริดจ์ตัวอื่น แต่เป็นเพียงตัวต่อตัว บางชนิดจะสนับสนุนการทำงานแบบ point-to-multipoint คือทำหน้าที่เชื่อมต่อกับบริดจ์พร้อมๆ กันทีละหลายๆ ตัว และก็มีบาง Wireless Bridge ที่ทำหน้าที่เป็นแอคเซสพอยต์ได้ด้วย
      
       แอคเซสพอยต์เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างระบบไร้สาย เข้ากับระบบเครือข่ายที่ต้องใช้สายสัญญาณ ผู้ใช้งานเครือข่ายไร้สายจะสามารถใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตหรือดึงข้อมูลจากระบบเครือข่ายได้ง่ายๆ เมื่อติดตั้ง Wireless Bridge ให้ทำงานเป็น AP Mode การทำงานของอุปกรณ์จะเป็นเหมือน Wireless Access Point ธรรมดาตัวหนึ่ง
      
       กรณีศึกษา
      
       สิ่งที่ต้องคำนึงถึง เมื่อจะวางระบบเป็น Wireless Bridge นั่นคือเราจะต้องรู้ระยะห่างระหว่างบริดจ์แต่ละตัว ซึ่งระยะทางนี้จะสัมพันธ์กับความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูล เช่น ถ้าหากระยะทางสูงสุดที่ Wireless Bridge สามารถส่งไปถึงคือ 1 กิโลเมตรหรือน้อยกว่านั้น นั่นหมายความว่าในระยะนี้จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ อยู่เลย
      
       ถ้าเป็นตึกที่ใกล้กันมากๆ อาจจะทำการส่งสัญญาณเชื่อมถึงกันผ่านหน้าต่างชั้นใดชั้นหนึ่งออกไปได้ หรือบางทีอาจจะต้องการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อทำให้บริดจ์นั้นทำงานภายนอกอาคารได้ การทำงานแบบนี้อาจจะใช้งานได้เป็นการชั่วคราว หากจะทำการติดตั้งเป็นการถาวรต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลาที่ใช้งาน หรือ สภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง
      
       สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจ นั่นก็คือวัสดุที่เป็นหน้าต่างหรือทางที่สัญญาณจะต้องส่งผ่าน (เช่น โลหะต่างๆ ความหนาของวัสดุหรือกระจก รวมถึงหมอกหรือควัน ล้วนมีผลกระทบกับการลดทอนของคลื่นวิทยุทั้งสิ้น
      
       1. กรณีที่เห็นปลายทาง ถ้าเราสามารถเห็นทุกจุดที่ส่งสัญญาณไปถึง คุณต้องคำนวณดูว่าเป็นระยะทางเท่าใด และต้องการอัตราการส่งข้อมูลเท่าไร เพราะทั้งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน ถ้าระยะทางยิ่งห่าง อัตราการรับ-ส่งข้อมูลจะยิ่งลดน้อยลงไปมากเท่านั้น ถ้าหากมีสิ่งกีดขวาง (อาจเพราะมีต้นไม้หรือวัตถุอื่น) บังสัญญาณอยู่ คุณอาจจะต้องติดตั้งเสาอากาศที่มีกำลังส่งมากกว่าเดิม คุณสามารถเชื่อมทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันด้วยงบประมาณที่ไม่มาก
      
       2. สภาวะอากาศในพื้นที่โล่งกว้างเป็นไปได้ว่าสัญญาณอาจถูกลดทอนได้จากสภาวะอากาศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง หิมะตก หมอกควัน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับการรบกวนของสัญญาณทั้งสิ้น อาจจะถึงขั้นทำให้สัญญาณขาดหายไปได้
      
       คุณควรจะมีอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่า ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของคุณได้ ปกติถ้าคุณมีสายล่อฟ้าอยู่แล้วก็จะช่วยเพิ่มการป้องกันความเสียหายได้มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าคุณต้องตรวจดูด้วยว่าระบบสายดินที่ใช้จะต้องมีความต้านทานต่ำมากๆ ถึงจะสามารถป้องกันฟ้าผ่าได้ดี
      
       3. หากต้องการเพิ่มระยะทางครอบคลุมให้ได้ไกลยิ่งขึ้น บริดจ์แต่ละแบบจะมีระยะทางการส่งสัญญาณที่จำกัด ซึ่งก็ขึ้นกับปัจจัยภายนอกเช่น สภาพแวดล้อมแต่ละที่ด้วย ข้อจำกัดในตัวอุปกรณ์ตั้งแต่ผลิตจากโรงงานทำให้บริดจ์ที่เป็น indoor กับ outdoor มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่แบบที่เป็น outdoor จะมีกำลังส่งสูงกว่าแบบที่เป็น indoor แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เมื่อเกินจากระยะทางการส่งสัญญาณที่กำหนด ประสิทธิภาพของการรับ-ส่งข้อมูลจะลดลง
      
       มีอยู่หลายวิธีที่จะเพิ่มระยะการส่งสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเสาอากาศที่มีกำลังส่งสูงขึ้น หรือเพิ่มชุดอุปกรณ์ขยายกำลังส่ง ทำให้เราสามารถส่งสัญญาณไปในระยะทางที่ไกลขึ้นได้
      
       4. การสำรวจพื้นที่ที่จะทำการติดตั้ง – การรบกวนกันของสัญญาณ การใช้งานที่เป็นมาตรฐาน 802.11g ไม่ต้องขออนุญาตในการใช้งานจากทางรัฐบาล เช่นเดียวกับมาตรฐาน 802.11b ปกติอุปกรณ์ที่ใช้ในย่านความถี่นี้จะสามารถใช้ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์กล้องที่เป็นไร้สายหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานในย่านความถี่เดียวกัน จะมีการรบกวนของสัญญาณ เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเลือกเปลี่ยนไปใช้งานช่องสัญญาณอื่นที่ว่างอยู่
      
       เราแนะนำให้คุณตรวจสอบคลื่นสัญญาณวิทยุด้วยการทำการสำรวจไซต์ ก่อนที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์จริง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการรบกวนของสัญญาณ การชนกันของแต่ละช่องความถี่ ทำให้เราทราบว่าในแต่ละพื้นที่มีการใช้งานในความถี่ใดบ้าง เมื่อเราจะติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณไร้สายเข้าไป ควรจะหลีกเลี่ยงไปใช้ช่องสัญญาณอื่นที่ไม่ถูกใช้งาน ดังนั้นการทำการสำรวจไซต์คือการติดตั้งอุปกรณ์บริดจ์ขึ้นมาชั่วคราว เพื่อเป็นเครื่องมือวัดระดับสัญญาณ กำหนดทิศทาง คำนวณความแรงของสัญญาณหรือเลือกใช้เสาอากาศที่เหมาะสม รวมถึงช่วยให้เราสามารถกำหนดตำแหน่งที่จะติดตั้งอุปกรณ์จริง ทำให้เราสามารถเตรียมอุปกรณ์ หรือจำนวนได้ถูกต้องและเหมาะสม

ที่มา http://www.moe.go.th/moe/upload/itnews/htmlfiles/16588-9506.html